วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

อนุมูลอิสระ และ สารต้านอมุมูลอิสระ

๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๒
อนุมูลอิสระ (free radical) หมายถึง สารซึ่งมีอิเล็กตรอน แต่ไม่มีคู่อยู่ในวงรอบของอะตอม จึงเป็นโมเลกุลที่ไม่มั่นคง เนื่องจากขาด อิเลกตรอน ไป 1 ตัว ปกติแร่ธาตุทั้งหลาย ในร่างกาย ของเราจะมีอิเลกตรอน อยู่วงรอบเป็นจำนวนคู่ ซึ่งทำให้โมเลกุลนั้นคงตัวสมบูรณ์ ในกรณีที่มีการสูญเสีย อิเลกตรอน (หรือมีอิเลกตรอนเกิน ก็เช่นกัน) จะทำให้โมเลกุลนั้นไม่มั่นคง เป็นตัวอันตราย และตัวเจ้าปัญหา คือพอเจอใครเขาดีๆ มีอีเล็กตรอนครบ ก็จะแย่ง อิเลกตรอน มาจากเขา ผู้ถูกแย่ง ก็กลายเป็นตัวเจ้าปัญหาแทน (ไม่มั่นคง)

ส่วนใหญ่เราให้ความสำคัญ กับสารซึ่งมีออกซิเจน เป็นศูนย์กลาง (ผมก็ไม่รู้จักหรอก เช่น hydroxyl radical, superoxide, peroxyl, alkoxyl และ oxides ของ nitrogen) ปกติสารอนุมูลอิสระเหล่านี้ เกิดขึ้นโดยปฏิกิริยา ในร่างกายอยู่แล้ว (โดยเฉพาะเวลา มีธาตุเหล็ก ทองแดง แมงกานีส โคบอลต์ โครเมียม นิเกิล อยู่ด้วย) ร่างกายของเรา มีระบบต้านอนุมูลอิสระ (แอนติออกซิแด้นท์ -Antioxidant) ขจัดออกไป แต่ถ้าร่างกายมีอนุมูลอิสระ มากเกินกว่าความสามารถ ของแอนตี้ออกซิแด้นท์ ในร่างกายจะขจัดได้หมด ก็ก่อให้เกิดอันตราย

แล้วอนุมูลอิสระมาจากไหน และเกิดขึ้นได้อย่างไร ? คำตอบก็คือ อนุมูลอิสระ มีที่มาทั้งภายใน และ ภายนอกร่างกาย

ภายนอกร่างกาย ได้แก่ มลพิษในอากาศ โอโซน ไนตรัสออกไซด์ ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่น ควันบุหรี่ อาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว (แก้ได้โดยใส่ วิตามินอี ลงไปด้วย) หรือธาตุเหล็กมากกว่าปกติ แสงแดด ความร้อน รังสีแกมม่า ยาบางชนิด เช่น Doxorubicin , Penicillamine, paracetamol, CCl4 เป็นต้น

แหล่งภายในร่างกายได้แก่ กระบวนการเผาผลาญสารอาหาร ซึ่งมีความจำเป็น ต้องอาศัยออกซิเจนช่วย จะเกิดผลพลอยเสีย คือ ออกซิเจนที่มีประจุลบ (O2 - ซึ่งก็คืออนุมูลอิสระ) เกิดขึ้น สารตัวนี้ นอกจากจะรวมตัวกับ LDL ได้แล้ว ยังสามารถ ไปรวมตัวกับสารบางชนิด ในร่างกายเรา แล้วก่อเกิด เป็นสารพิษที่ทำลายเนื้อเยื่อ หรืออาจไปเปลี่ยนแปลง ข้อมูลทางพันธุกรรมภายในเซลล์ ทำให้เซลล์ที่ปกติ แปรสภาพ ไปเป็นเซลล์มะเร็ง ในที่สุด ฟังดูแล้วน่ากลัวทีเดียว

ที่สำคัญ อาหารที่มักจะเป็นต้นตอ ของอนุมูลอิสระมักจะเป็นของโปรดของหลาย ๆ ท่าน คืออาหารพวก ปิ้ง ย่าง เผา พวกเนื้อกรอบ เกรียมไหม้ (ก็คงต้องพยายามลด ละ เลิก กันเอาเอง ก็แล้วกัน)

ปัจจุบันเชื่อกันว่า อนุมูลอิสระ อาจจะถือได้ว่า เป็นต้นตอของปัญหา ที่เลวร้ายทั้งหลาย ภายในร่างกายคนเรา โรคหัวใจ ต้อกระจก มีผลต่อการอักเสบ และการทำลายเนื้อเยื่อ ในระยะสั้น ในระยะยาว อาจมีผลต่อ ความเสื่อม หรือการแก่ของเซลล์ รวมทั้งอาจเป็นสารก่อมะเร็ง

ร่างกายก็มีกลไก ที่จะกำจัด อนุมูลอิสระ เหล่านี้โดย 2 วิธี คือ ใช้เอนไซม์ต่างๆในร่างกาย เช่น Superoxide dismultase ( SOD ) และไม่ใช้เอนไซม์ ได้แก่ วิตามิน อี (tocopherol) เบตาคาโรทีน (Betacarotene ) และ วิตามิน ซี

เนื่องจากมีผู้สังเกตว่า เอนไซม์ต่างๆที่ใช้กำจัด อนุมูลอิสระ เช่น SOD มีได้จำกัด แต่พวก วิตามิน อี วิตามิน ซี เบต้าคาโรทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) มีมากในผัก และผลไม้บางชนิด จึงมีการสนับสนุน ให้กินสิ่งเหล่านี้เพิ่มมากชึ้น โดยมีความเชื่อว่า อาจลดการก่อมะเร็ง ลดการเป็นโรคหัวใจ ขาดเลือดและ โรคอื่นๆ ที่คิดว่าเกิดจาก อนุมูลอิสระ

อาหารที่มี เบต้าคาโรทีนสูงได้แก่ ผักใบเขียว (เช่น ตำลึง และ ผักบุ้ง) อาหารที่มีสีเหลือง (เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุก มะเขือเทศ ฟักทอง) อาหารที่ให้วิตามินซีสูง คือ พืช ผักสีเขียว และผลไม้รสเปรี้ยว เช่นตำลึง ผักบุ้ง พริกหยวก ส้ม มะนาว สัปปะรด เป็นต้น

ส่วนวิตามิน อี มีในน้ำมันพืชต่างๆ

รายงานที่บอกว่า การทานผักและผลไม้ สามารถลดความเสี่ยง ต่อการเป็นมะเร็งมีมากมาย ซึ่งคิดว่ากลไก ทั้งด้านที่ผัก และผลไม้มีสารกากใยมาก ซึ่งจะช่วยทางด้าน ลดมะเร็งลำไส้ใหญ่ (อ้างอิงที่ 1)

นอกจากนี้ กลไกทางด้าน ต้านอนุมูลอิสระ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ของการลดความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ตัวอย่างรายงานเหล่านี้มีมากเช่น ผักและผลไม้ ลดความเสี่ยง ต่อมะเร็งกระเพาะอาหารได้ ถึง 5.5 เท่า ซึ่งเป็นรายงานใหญ่ ในการศึกษา แบบติดตามคนไข้ถึง 11,546 คนเป็นเวลาถึง 25 ปี (อ้างอิงที่ 2)

ผักและผลไม้ ลดความเสี่ยง ต่อมะเร็งปอด ก็มีรายงานเช่นกัน (อ้างอิงที่ 3) บางรายงาน ตรวจสอบชัดลงไปได้ ถึงชนิดของผักด้วยอาทิ พบว่า ผักที่มีสีเหลืองเช่น แครอท มันฝรั่ง พบว่าลดมะเร็ง ของปอดได้มากกว่า ผักชนิดอื่นเป็นต้น (อ้างอิงที่ 4)

นอกจากนี้ มีรายงานใหญ่ ที่ติดตามการเป็นมะเร็ง ของประชากร 10,068 คน เป็นเวลาถึง 19 ปี ในจำนวนนี้ พบมะเร็งปอด 248 คน พบว่าการกินผักและผลไม้ ที่มีวิตามิน เอ หรือ เบต้าคาโรทีน จะสามารถ ลดความเสี่ยง ของมะเร็งปอดได้ (อ้างอิงที่ 5)

การทานผักและผลไม้ ที่มีเบต้าคาโรทีน วิตามินซี วิตามินอี สูง สามารถที่ จะลดอุบัติการ การเป็นมะเร็งเต้านมได้จริง ในสตรีวัยเจริญพันธ์ จากการติดตาม คนไข้ 83.234 คน เป็นเวลา 14 ปี (อ้างอิงที่ 6)

สำหรับ มะเร็งชนิดอื่น เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก พบว่าการทานผักและผลไม้ ไม่ช่วยลดความเสี่ยงแต่อย่างใด (อ้างอิงที่ 7) แต่มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ ลดความเสี่ยงได้ด้วย การทานผัก ประเภท บรอคเคอรี่ และหัวผักกาด (อ้างอิงที่ 8)

นอกจากนี้ ผักและผลไม้ที่มี เบต้าคาโรทีนสูง ก็มีผลต่อการ ลดอุบัติการ ของโรคหัวใจขาดเลือดได้จริง จากการวิจัย ย้อนหลังในคนไข้ 4802 คนติดตามไป 4 ปี (อ้างอิงที่ 9)

มีนักวิทยาศาสตร์ จำนวนมากได้พยายามศึกษา และรายงานผลของการกิน สารต้าน อนุมูลอิสระคือ วิตามินอี วิตามินซี และ เบต้าคาโรทีน โดยตรง ดูว่าจะลดความเสี่ยง ต่อโรคต่างๆ เช่นมะเร็งต่างๆ โรคหัวใจ และโรคอื่นอีกหรือไม่ โดยมีทั้งรายงาน ที่สนับสนุนผลดี และรายงาน ที่บอกว่าไม่ได้ผล ก็มีเช่น การกินวิตามินเอ วิตามินอี และ วิตามินซี โดยตรง ก็สามารถ ลดความเสี่ยงมะเร็ง ได้เช่นกัน แต่ไม่มากนัก และการกินวิตามิน เหล่านี้ในปริมาณ ที่มากกว่าความต้องการ ของร่างกาย ในแต่ละวัน กลับไม่ช่วย ลดอุบัติการ ของการเป็นมะเร็งปอด (อ้างอิงที่ 5)

การกินเบต้าคาโรทีน วันละ 30 มก.และ วิตามิน ซี 500 มก. เป็นเวลา 2 ปี ไม่มีผลป้องกัน การเปลี่ยนแปลง เซลล์ปากมดลูก ที่ผิดปกติไป สู่การเป็นเซลล์มะเร็ง แสดงว่าไม่มี ผลดีทางด้านนี้ (อ้างอิงที่ 10)

การกินสารต้านอนุมูลอิสระ คือ วิตามินซี วิตามินอี ก็ยังไม่มีรายงาน ว่ายับยั้งโรคประสาทตาเสื่อมได้ จากการติดตามผู้ป่วย 21,120 คน เป็นเวลา 12.5 ปี (อ้างอิงที่ 11)

จากการวิเคราะห์ โดยรวบรวมเฉพาะ การวิจัยที่ติดตามผล หรือมีการทดลองที่ชัดเจน พบว่า มีเพียงวิตามินอี เท่านั้น ที่อาจมีบทบาท ในการป้องกัน โรคหัวใจขาดเลือด และลดอัตราตาย ในโรคหัวใจได้ ส่วนเบต้าคาโรทีน และ วิตามินซี ไม่มีดีผลที่ชัดเจน (อ้างอิงที่ 12 ) และผลดีนี้ ไม่เกี่ยวกับ กลไกทางด้าน ไขมันในเลือด และความดันโลหิต (อ้างอิงที 13)

สำหรับ เบต้าคาโรทีนนั้นแม้จะพบว่า อาหารที่มี เบต้าคาโรทีน มีผลต่อการลดอุบัติการ ของโรคหัวใจขาดเลือดได้จริง แต่เมื่อให้สารสกัดเบต้าคาโรทีนโดยตรง ต่อผู้ป่วย ก็ยังไม่พบผลดีชัดเจน ต่อโรคหัวใจ

สำหรับ วิตามินซี มีเพียงการวิจัย แบบวิเคราะห์ย้อนหลัง ที่พบว่าวิตามินซี อาจมีผลดี ต่อการลดความเสี่ยง โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ (อ้างอิงที่ 15)

จากการค้นพบว่า วิตามินอี อาจมีผลต่อ การลดความเสี่ยง ของโรคหัวใจขาดเลือด โดยลดอัตราตายได้ (อ้างอิงที่ 15, 16) ก็เริ่มมีการวิจัย โดยมีการทดลองที่มากขึ้น โดยทดลองในคนไข้ 2000 คนเป็นเวลาปีกว่า ก็พบว่า วิตามินอี ลดอุบัติการ ของโรคหัวใจขาดเลือดจริง แต่ก็มีผลน้อยมาก และจากการทดลอง ในรายงานหลังก็พบว่า เบต้าคาโรทีน กลับไม่มีผลดีอันนี้ (อ้างอิงที่ 17)

มีบริษัทยาหัวใส พากันนำเสนอในรูปของอาหารเสริมนา ๆ ชนิด ทำให้มีผู้บริโภคผลิตภัณฑ์เหล่านี้กันอย่าง มากมาย ส่งผลให้คนที่ยังไม่ได้ซื้อ มาบริโภคชักจะใจไม่ดี ทั้ง ๆ ที่ยังไม่มีข้อมูลยืนยัน ได้แน่ชัดว่า จะได้ประโยชน์จริงหรือไม่ (รายงานต่างๆ ระบุเพียงว่า อาจจะได้ผลดี แต่คนเรานะ เขาว่า ดี ก็พากันไปซื้อหามากิน ถ้ารวย หรือ มีเงินเหลือเฟือ ก็ช่างเขาเถอะ)

ข่าวดีสำหรับผู้ที่ไม่อยากทานยา มีการศึกษาพบว่า หญิงวัยหมดประจำเดือน กินอาหาร ที่มีอุดมด้วย วิตามินอี เช่น ถั่ว งา และน้ำมันพืช มีโอกาสเสียชีวิต จากโรคหัวใจ ลดลงถึง 62%

รายงานต่างๆ นั้น แสดงว่า สารต้านอนุมูลอิสระ น่าจะมีผลดีต่อร่างกาย และอาจลดมะเร็งต่างๆ และลดอุบัติการโรคหัวใจขาดเลือดได้จริง แต่พบว่าฤทธิ์เด่นชัด กลับอยู่ในรูปของผักสด และผลไม้มากกว่าสารสกัด หรือตัววิตามินโดยตรง

ถึงตรงนี้ก็อาจสรุปว่า อาหาร ที่ได้จากธรรมชาตินั่นเอง ที่ช่วยเราให้ปลอด จากพิษภัยของอนุมูลอิสระ การกินผักสด และผลไม้ เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก และมีผลดีต่อสุขภาพ อย่างแท้จริง กินผักต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกัน อย่างสม่ำเสมอ ไม่ต้องตกเป็นทาส "ยาบำรุง - อาหารเสริม” ที่แพงมหาโหด คนมั่งมี ดูเหมือนจะมีโอกาสดีกว่า ทั้งที่ไม่ได้ดีกว่า เพราะ ผัก และผลไม้ ราคาถูก มีอยู่มากมาย ในบ้านเรา เลือกได้ตามต้องการ

เพื่อสุขภาพที่ดี อย่างแท้จริง กินผักสด และผลไม้ แทน ฮือฮาพากันไปกิน อาหารเสริม ที่มีไว้เพื่อกอบโกยเงินจากเรา กันดีกว่า นะครับ

ว พชร


ข้อมูล และฝอยต่างๆ ที่ผมเขียน และเรียบเรียงนี้ ผมประมวล และ รวบรวมมาจาก
http://www.thaiclinic.com/antioxidant.html ของ ท่าน น.ท. น.พ. จักรพงศ์ ไพบูลย์ (ที่ระบุ อ้างอิงต่างๆ),
http://th.wikipedia.org, http://www.vibhavadi.com
และ อื่นๆ ที่ผมจำไม่ได้ว่ามาจากไหน ขอขอบคุณอย่างสูง สำหรับข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น