วันจันทร์ที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2553

ธาตุต่างๆ ในร่างกายคนเรา และ การปรับสมดุล ด้วยอาหาร

๐๔ มกราคม ๒๕๕๓
ในระบบการแพทย์แผนไทย ที่สืบต่อมาจากโบราณ ระบุไว้ว่า องค์ประกอบของชีวิต ประกอบด้วย ร่างกายและจิตใจ สำหรับร่างกายของมนุษย์ประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง ๔ ได้แก่ ธาตุ ดิน น้ำ ลม และไฟ  (ในฐานข้อมูลเดิมใช้ ปถวีธาตุ อาโปธาตุ วาโยธาตุ และ เตโชธาตุ) ซึ่งเป็นการแยกลักษณะทั่วไปของอวัยวะ และการทำงานของระบบต่างๆ ของร่างกาย ในระบบของการแพทย์แผนไทยจำแนกไว้ดังนี้

ธาตุดิน หมายถึงองค์ประกอบในส่วนที่เป็นโครงสร้าง มีคุณสมบัติไปทางแข็ง อยู่นิ่งคงตัว เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ทั้งระบบคงรูปร่างอยู่ได้ ซึ่งหมายถึง อวัยวะที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกาย
จำแนกเอาไว้ ๒๐ ประการ ได้แก่  ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็นและเส้น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ ผังผืด ไต ปวด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า และมันในสมอง

ธาตุน้ำ หมายถึง องค์ประกอบส่วนที่เป็นของเหลว มีคุณสมบัติที่ซึมซาบทำให้อ่อนตัว เป็นตัวกลางที่ทำให้สิ่งต่างๆ ไหลเวียนไป
จำแนกเอาไว้ ๑๒ ประการ ได้แก่ น้ำดี เสลด หนอง น้ำมันไขข้อ เหงื่อ มันข้น มันเหลว น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ และน้ำปัสสาวะ

ธาตุลม หมายถึง พลังขับดันภายในระบบร่างกายที่มีการเคลื่อนไหวหมุนเวียน
จำแนกเอาไว้ ๖ ประการ ได้แก่ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดศรีษะ ลมสำหรับพัดตั้งแต่ศรีษะตลอดปลายเท้า ลมสำหรับพัดอยู่ในท้องนอกลำไส้ ลมสำหรับพัดในลำไส้และในกระเพาะ  ลมสำหรับพัดทั่วร่างกาย และลมสำหรับหายใจเข้าออก

ธาตุไฟ หมายถึง พลังงานที่ทำให้ความอบอุ่น ความร้อน และเผาไหม้
จำแนกเอาไว้ ๔ ประการ คือ ไฟสำหรับอุ่นกาย ไฟสำหรับระส่ำระส่าย ไฟสำหรับเผาไหม้ให้แก่คร่ำคร่า และไฟสำหรับย่อยอาหาร


แต่ละคนจะมีธาตุหลัก เป็นธาตุประจำตัว เรียกว่า“ธาตุเจ้าเรือน
ธาตุเจ้าเรือน สามารถกำหนดได้ ลักษณะ  คือ ธาตุเจ้าเรือนเกิด จะเป็นไปตาม วันเดือนปีเกิด และธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน  พิจารณาจาก  บุคลิกลักษณะ อุปนิสัย และภาวะด้านสุขภาพ กายและใจ ว่าสอดคล้องกับลักษณะของบุคคลธาตุเจ้าเรือนอะไร

เมื่อธาตุทั้งสี่ในร่างกายสมดุล บุคคลจะไม่ค่อยเจ็บป่วย หากขาดความสมดุล มักจะเกิดการเจ็บป่วย ด้วยโรคที่เกิดจาก จุดอ่อนด้านสุขภาพของแต่ละคน ตามเรือนธาตุ ที่ขาดความสมดุล

ตามทฤษฎีโบราณ จะใช้รสชาติของอาหาร เป็นยารักษาโรค โดยรสชาติต่าง ๆ จะมีผลต่อร่างกาย จำเป็นกลอนง่าย ๆ ให้ขึ้นใจ จากรสยา รส ต่าง ๆ ตามนี้
 
ฝาดชอบทางสมาน หวานซึบซาบไปตามเนื้อ
เมา เบื่อแก้พิษต่าง ๆ ขมแก้ทางโลหิตและดี
รสมันบำรุงหัวใจ เค็มซึมซาบตามผิวหนัง
เปรี้ยวแก้ทางเสมหะ เผ็ดร้อนแก้ทางลม

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ปัญหาความเจ็บป่วยที่อาจจะเกิดขึ้น สิ่งที่สามารถช่วยได้ระดับหนึ่งในเบื้องต้นคือ  การบริโภคอาหารของแต่ละคนในชีวิตประจำวัน อาศัยลักษณะของคน ว่าเป็นคนธาตุอะไร (ธาตุเจ้าเรือน) มีจุดอ่อนด้านสุขภาพอย่างไร ควรจะรับประทานอาหารแบบไหน โดยใช้คุณลักษณะของอาหารที่เป็นยา มาปรับสมดุลของร่างกาย เพื่อป้องกันความเจ็บป่วย  ลองเริ่มที่ ธาตุเจ้าเรือนเกิดก่อนก็ได้ แต่จะให้ได้ผลดีกว่า ท่านว่าให้พิจารณาจากธาตุเจ้าเรือนปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยความสามารถของท่านแพทย์แผนไทย

ธาตุดิน คือ               คนที่เกิดเดือน ๑๑, ๑๒, ๑ หรือ ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม
ลักษณะรูปร่าง           สูงใหญ่ ผิวค่อนข้างคล้ำผมดกดำ กระดูกใหญ่ ข้อกระดูกแข็งแรง น้ำหนักตัวมาก ล่ำสัน เสียงดังหนักแน่น
ควรรับประทานอาหารรส  ฝาด หวาน มัน และเค็ม

ตัวอย่างผลไม้          มังคุด ฝรั่งฟักทอง เผือก ถั่วต่าง ๆ เงาะ หัวมันเทศ
ตัวอย่างผักพื้นบ้าน    ผักกระโดน กล้วยดิบ ยอดมะม่วงหิมพานต์ ยอดมะยม สมอไทย กระถินไทย กระโดนบก กระโดนน้ำ ผักหวาน ขุ่นอ่อน สะตอ ผักโขม โสน ขจร ยอดฟักทอง ผักเซียงดา ลูกเหนียงนก บวบเหลี่ยม บวบงู บวบหอม
ตัวอย่างเมนูอาหาร  ผัดผักกูดผัดน้ำมันงา ดอกงิ้วทอดไข่ แกงป่า กล้วยดิบ คั่วขนุน สะตอผัดกุ้ง สมอไทยผัดน้ำมันหอย
ตัวอย่างอาหารว่าง   เต้าส่วน วุ้นกะทิ กล้วยบวชชี แกงบวดฟักทอง ตะโก้เผือก
ตัวอย่างเครื่องดื่ม    น้ำอ้อย น้ำมะพร้าว น้ำตาลสด น้ำมะตูม นมถั่วเหลือง น้ำแคนตาลูป น้ำส้ม น้ำฝรั่ง น้ำลูกเดือย น้ำข้าวโพด น้ำแห้ว น้ำฟักทอง
เกร็ดความรู้             ผู้มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุดิน มักจะไม่ค่อยเจ็บป่วยเพราะธาตุดินเป็นที่ตั้งของกองธาตุ


ธาตุน้ำ คือ               คนที่เกิดเดือน ๘, ๙, ๑๐ หรือ กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน
ลักษณะรูปร่าง          สมบรูณ์ สมส่วน ผิวพรรณสดใส เต่งตึง ตาหวาน น้ำในตามาก ท่าทางเดินมั่นคง ผมดกดำงาม ทนหิว ทนร้อน ทนเย็นได้ดี เสียงโปร่ง ความรู้สึกทางเพศดี อากัปกิริยามักเฉื่อย และค่อนข้างเกียจคร้าน
ควรรับประทานอาหาร  เปรี้ยว และขม

ตัวอย่างผลไม้         มะนาว ส้ม สับปะรด มะเขื่อเทศ มะยม มะกอก มะดัน กระท้อน
ตัวอย่างผักพื้นบ้าน ขี้เหล็ก แคบ้าน ชะมวง ผักติ้ว ยอดมะกอก ยอดมะขาม มะอึก มะเขือเครือ สะเดาบ้าน มะระขี้นก มะระจีน มะแว้ง ใบยอ
ตัวอย่างเมนู             แกงขี้เหล็กปลาย่าง แกงส้มดอกแค แกงอ่อม มะระขี้นก ผัดมะระใส่ไข่ ห่อหมกใบยอ แกงป่าสะเดาใส่ปลาหมอ แกงป่า สะเดาปิ้ง ต้มโคล้งยอดมะขาม ใบยอผัดน้ำมันหอยใส่หมูบด
ตัวอย่างอาหารว่าง   มะยมเชื่อม สับปะรดกวน กระท้อน ลอยแก้ว มะม่วงน้ำปลาหวาน มะม่วงกวน
ตัวอย่างเครื่องดื่ม    น้ำมะนาว น้ำใบบัวบก น้ำมะเขือเทศ น้ำมะขาม น้ำสับปะรด น้ำกระเจี๊ยบ มะเฟือง
เกร็ดความรู้              ผู้ที่มาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุน้ำ ในช่วงอายุแรกเกิด – ๑๖ ปีมักจะมีอาการเป็นหวัดคัดจมูก ตาแฉะ ในฤดูหนาว จะเจ็บป่วยง่ายเพราะธาตุน้ำกำเริบ


ธาตุลม คือ               คนที่เกิดเดือน ๕, ๖, ๗ หรือ เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน
ลักษณะรูปร่าง           ผิวหนังแท้หยาบกร้าน รูปร่างโปร่ง ผอมบาง ข้อกระดูก มักลั่นเมื่อ เคลื่อนไหว ขี้อิจฉา ขี้ขลาด รักง่ายหน่ายเร็ว ทนหนาวไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ช่างพูด เสียงต่ำ ออกเสียงไม่ชัดเจน ความรู้สึกทางเพศไม่ค่อยดี
ควรรับประทานอาหารรส  เผ็ดร้อน

ตัวอย่างผลไม้ และ  ผักพื้นบ้าน    ขิงข่า ตะไคร้ กระชาย พริกไทย กระทือ ดอกกระเจียว ขมิ้นชัน ผักคราด ช้าพลู ผักไผ่ พริกขี้หนูสด สะระแหน่ หูเสือ ผักแขยง ผักชีลาว ผักชีล้อม ยี่หร่า สมอไทย กานพลู
ตัวอย่างเมนู            แกงปลาดุกใส่กระทือ ต้มข่าไก่ ต้มยำกุ้ง แกงหอยขมใส่ใบช้าพลู สมอไทยทุบ ๆผัดน้ำมันพืช สมอไทยจิ้มน้ำพริก
ตัวอย่างอาหารว่าง   บัวลอยน้ำขิง เต้าฮวย เต้าทึง มันต้มขิง ถั่วเขียว ต้มขิง เมื่ยงคำ
ตัวอย่างเครื่องดื่ม    น้ำขิง น้ำตะไคร้ น้ำข่า น้ำก้านพลู
เกร็ดความรู้             ผู้ที่มาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุลม ในช่วงอายุ ๓๒ ปีขึ้นไป มักจะมี อาการเวียนหัว หน้ามืด เป็นลมง่าย ในฤดูฝน จะเจ็บป่วยง่าย เพราะธาตุลมกำเริบ


ธาตุไฟ คือ              คนที่เกิดเดือน ๒, ๓, ๔ หรือ มกราคม กุมภาพันธ์ มีนาคม
ลักษณะรูปร่าง         มักขี้ร้อน ทนร้อนไม่ค่อยได้ หิวบ่อย กินเก่ง ผมหงอกเร็ว มักหัวล้าน ผิวหนังย่น ผม ขน และหนวดอ่อนนิ่ม ไม่ค่อยอดทนใจร้อน ข้อกระดูกหลวม มีกลิ่นปาก กลิ่นตัวแรง ความต้องการทางเพศปานกลาง
ควรรับประทานอาหารรส  ขม เย็น และจืด  

ตัวอย่างผลไม้         แตงโม มันแกว พุทรา แอปเปิ้ล
ตัวอย่างผักพื้นบ้าน ผักบุ้ง ตำลึง ผักกระเฉด ผักกระสัง สายบัว ผักกาดจีน ผักกาดนา ผักกาดนกเขา มะระ ผักปรัง มะรุม มะเขือยาว ผักหนาม ยอดมันเทศ กระเจี๊ยบมอญ สะเดา ยอดฟักทอง หยวกกล้วย หม่อน มะเขือยาว กุ้ยช่าย
ตัวอย่างเมนู            ผัดผักบุ้ง แกงจืดตำลึง ผัดสายบัวใส่พริก แกงส้มมะรุม แกงคูน แกงจืดมะระ แกงส้มหยวกกล้วยใส่ปลาช่อน ยำผักกะเฉด ผักหนามผัดน้ำมันหอย
ตัวอย่างอาหารว่าง  ซาหริ่ม ไอศกรีม น้ำแข็งใส
ตัวอย่างเครื่องดื่ม   น้ำแตงโมปั่น น้ำใบเตย น้ำเก็กฮวย
เกร็ดความรู้            ผู้ที่มีธาตุเจ้าเรือนเป็นธาตุไฟ ในช่วงอายุ ๑๖ - ๓๒ มักจะหงุดหงิดง่าย อารมณ์เสียบ่อย เป็นคนเจ้าอารมณ์ในฤดูร้อน จะเจ็บป่วยง่ายอาจเป็น ไข้ตัวร้อนได้ง่าย เพราะธาตุไฟกำเริบ

หลายท่านคงเคยดูรายการทีวี พูดถึงเรื่องอาหารไทยที่เหมาะกับแต่ละคน ผมอาจจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนก็เป็นได้ สิ่งที่จะฝากไว้ก็คือ ถึงแม้ว่าจะไม่รู้ตัวเองมีธาตุเจ้าเรือนเป็นอะไร การกินอาหาร และใช้ชีวิตตามนี้ ก็ไม่ได้มีข้อเสียอะไร  เพราะอยู่อย่างไทย ไม่ได้เน้นให้กินล้น หากกินแล้วไม่อร่อย ก็ไม่ต้องฝืนกิน หรอกครับ เดินสายกลางดีที่สุด  ทำได้ก็ดี ทำไม่ได้ ก็บ่อเป็นหยังดอก แค่นี้นะครับ

ว พชร

ข้อมูล และฝอยต่างๆ ที่ผมเขียน และเรียบเรียงนี้ ผมประมวล และ รวบรวมมาจาก
สถาบันแพทย์แผนไทย (http://ittm.dtam.moph.go.th แพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ - การแพทย์แผนไทยการแพทย์แบบองค์รวม,  ตำรับอาหารไทยเพื่อสุขภาพของโภชนา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข)
 และ อื่นๆ ที่ผมจำไม่ได้ว่ามาจากไหน ขอขอบคุณอย่างสูง สำหรับข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น