วันจันทร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2552

ยาแก้โรคหวัด มีจริงหรือ

๒๓ ตุลาคม ๒๕๕๒
มีข้อมูล ที่เป็นเรื่องใหม่ เกี่ยวกับ หวัด ขอเพิ่มไว้ให้มี รายละเอียดมากขึ้นครับ เกี่ยวกับความก้าวหน้า เรื่องการรักษาโรคจากเชื้อไวรัส (โดยเฉพาะ ไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ หรือในปัจจุบันที่ฮือฮากันมาก คือ ไข้หวัดสายพันธุ์ใหม่ 2009) ดังต่อไปนี้ นะครับ

แต่เดิม การรักษาหวัด ต้องให้ร่างกาย มีภูมิต้านทาน และรักษาตัวเองจนหาย อย่างเดียวเท่านั้น
เดี๋ยวนี้ มียาต้านไวรัส ที่สามารถช่วยได้บ้าง เมื่อเกิดเป็นโรคแล้ว ยาต้านไวรัส ไม่สามารถต้านไวรัสได้ทุกตัว ต้านได้เฉพาะตัวที่ได้ทดสอบและยืนยันเท่านั้น ไวรัสเป็นอะไรที่สามารถ ปรับปรุงและกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ยาต้านไวรัสที่ สามารถต้านทานเชื้อไวรัสตัวใดในวันนี้ ไม่สามารถจะบอกได้ว่า จะเป็นจริงสำหรับวันพรุ่งนี้

วัคซีนป้องกันโรคหวัด ก็เช่นกัน เป็นอะไรที่คิดว่าจะเป็นคำตอบ เพื่อป้องกัน ก่อนที่จะเป็นโรค สำหรับไวรัส(โรคหวัด) แล้ว ก็คงยาก เพราะสามารถป้องกัน เฉพาะไวรัสตัวใดตัวหนึ่งเท่านั้น กว่าจะคิดและผลิตได้ก็นาน (เช่นเดียวกัน ต้องพูดเหมือนเดิมว่า ไวรัสเป็นอะไรที่สามารถ ปรับปรุงและกลายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ตามไม่ค่อยทัน) ไม่น่าจะใช่คำตอบ

ข้อความต่อไปนี้ เรื่อง "ยาแก้โรคหวัด มีจริงหรือ" เขียนไว้ก่อนแล้ว แต่ก็คิดว่ายังคงใช้ได้ดีอยู่ ลองอ่านดู นะครับ

ช่วงนี้ (พฤษภาคม ๒๕๕๒) เกิดโรคหวัดที่ทำให้มีคนตายเกิดขึ้น ทางราชการเรียกว่า ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ข่าวที่ออกมาดูน่ากลัว แต่ทางรัฐ ก็บอกว่าถ้ารู้ล่วงหน้า ก็ไม่ได้ตายกันง่ายๆ มียารักษา หายแน่นอน ปัจจุบันมียาต้านไวรัส เป็นทางออกอย่างหนึ่ง ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

โรคหวัดเกิดจากไวรัส มีหลายสายพันธุ์ และ ก็มีความสามารถกลายพันธุ์ ปรับปรุงตัวเองพยายามให้อยู่รอด ตลอดเวลา เรื่องราว และข้อมูลต่อไปนี้จะพูดถึง ไข้หวัด หรือ โรคหวัดทั่วๆ ไป ที่เป็นกันอยู่แทบทุกคน นะครับ

ผมเชื่อว่า เราทุกคน ต้องเคยเป็นหวัดมาบ้าง ไม่มากก็น้อย บางคนเป็นอยู่ทั้งปี หลายต่อหลายคน อาจจะได้รับข้อมูลว่า เป็นภูมิแพ้ แพ้นั่นแพ้นี่ แพ้เกสรดอกไม้ แพ้(ไร)ฝุ่น ฯลฯ เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า เป็นหวัด หรือเป็นภูมิแพ้กันแน่ และถ้ามัน ไม่ได้มีอาการรุนแรงอะไร ถึงจะมีคัดจมูก ฟืดๆ ฟาดๆ ก็ช่างมัน เราก็มักจะปล่อยๆ มันไป เดี๋ยวก็หายไปเองแหละ ไม่ต้องทำอะไร

ที่ผมจะคุยให้ฟัง ก็เฉพาะเรื่องหวัด ที่เรารู้สึกว่า เป็นหวัดจริงๆจังๆ มีอาการ ปวดหัว เป็นไข้ คัดจมูก ปวดเมื่อยเนื้อตัว ไม่อยากทำอะไร พอดีพอร้าย ก็โทรบอกที่ทำงาน ว่าไม่สบายเป็นหวัด ปวดหัวมาก ขอหยุดพัก สักวันหรือ 2 วัน นั่นแหละ คิดว่าต้องหาหยูกยามากิน แล้วในโลกนี้ มียาแก้หวัดจริงๆ หรือ??? ลองดูข้อมูล พวกนี้ก่อน ก็แล้วกันครับ


โรคหวัด หรือไข้หวัด (Common cold)
ทางการแพทย์ เรียกว่า โรคเยื่อจมูก และลำคออักเสบ เฉียบพลัน (Acute nasopharyngitis / Common cold / Upper respiratory tract infection / URI) เป็น โรคติดต่อ จากการติดเชื้อ ไวรัส ในระบบ ทางเดินหายใจส่วนบน (ได้แก่ จมูก และคอ) เป็นโรคที่พบบ่อย และง่ายที่สุดในบรรดาโรค ที่มนุษย์เคยประสบมา ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็น ปีละหลายครั้ง โดยเฉลี่ยแล้ว ทุกคนจะติดเชื้อ หนึ่งครั้งต่อปี

ถ้าติดเชื้อไวรัส ที่จมูก จะมีการจาม อาการคัดจมูก เยื่อจมูกจะบวมและแดง และยังมี การหลั่งน้ำมูก มากกว่าปกติ จนไหลออกทางจมูก แต่ถ้าติดเชื้อที่คอ จะมีอาการเจ็บคอ คอแหบแห้ง หรือ มีเสมหะ สะสมอยู่บริเวณลำคอ การติดเชื้อ อาจจะเกิดขึ้นได้ ทั้งสองบริเวณ นอกจากนี้ ผู้เป็นโรค จะมีอาการไอ ปวดศีรษะ และเหนื่อยง่าย ไข้หวัดมักจะมี ระยะโรค อยู่ที่ประมาณ 3 – 5 วัน อาการไอ สามารถต่อเนื่องไปได้ ถึงสามสัปดาห์

โรคนี้ สามารถติดต่อกัน ได้ง่ายจากการอยู่ใกล้ชิดกัน โรคหวัด เป็นโรคที่พบได้ ตลอดทั้งปี มักจะพบมาก ในช่วงฤดูฝน ฤดูหนาว หรือในช่วงที่มีอากาศเปลี่ยนแปลง ส่วนฤดูร้อนจะน้อย

เชื้อไวรัส ที่เป็นสาเหตุ ของไข้หวัด(เชื้อหวัด) มีอยู่มากมายหลายชนิด ซึ่งผลัดเปลี่ยน หมุนเวียนกัน ทำให้เกิด การอักเสบที่ ทางเดินหายใจ ส่วนต้น (จมูกและคอ) ครั้งละชนิด

โรคหวัดเป็น โรคประเภทติดเชื้อ ที่ระบบทางเดินหายใจ ส่วนบน โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ก็เป็นโรค ประเภทเดียวกันกับโรคหวัด แต่มีอาการไข้ขึ้นสูง และการปวดเมื่อยเนื้อตัว และกล้ามเนื้อ นั้นรุนแรงกว่ามาก โรคหวัด มีอัตราความเสี่ยงต่อชีวิตต่ำ แต่ถ้าเกิด โรคแทรกซ้อนอย่างเช่น ปอดบวม ก็อาจทำให้ เกิดการเสี่ยงชีวิต ขึ้นได้


สาเหตุของโรค
โรคหวัด อาจเกิดได้จาก เชื้อไวรัส หลายชนิดด้วยกัน (อ่านๆ ดูก็แล้วกัน ไม่ต้องใส่ใจ เพราะชื่อพวกนี้แปลกประหลาดนัก จำยาก และเราก็ไม่ใช่หมอ หรือ ผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ผมก็ลอกมาให้ดูเท่านั้น ไม่หวังว่าใครจะจำได้) โดยส่วนใหญ่ มักเป็นเชื้อไวรัส ประเภท Coryza viruses ได้แก่ Rhinovirus และ Coronavirus ที่พบมากที่สุด รวมไปถึง Echovirus, Adenovirus, Paramixovirus, Coxsackievirus และไวรัส ที่ก่อให้เกิดโรคหวัด อีกหลายร้อยประเภท ที่ถูกค้นพบ

ไวรัสจะทำให้เกิด การติดเชื้อ บริเวณระบบทางเดินหายใจส่วนบน โดยไวรัสเหล่านี้ สามารถกลายพันธุ์ เพื่อดำรงชีวิต ให้อยู่รอด ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ (ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่า วิธีการรักษาโรคนี้ ยังไม่น่าจะถูกค้นพบ ในเร็ววัน) โดยที่ บริเวณกล่องเสียง (คอหอย) จะเป็นศูนย์รวม ของเชื้อไวรัส โดยสาเหตุที่ เชื้อไวรัสชอบ ไปสะสมตัวกัน ที่กล่องเสียง ก็เนื่องมาจาก อุณหภูมิ ของกล่องเสียงต่ำกว่า บริเวณลำคอ และเป็นส่วนที่มีเซลล์ตัวกระตุ้นมาก ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อม ที่ไวรัสชอบ


การติดต่อ
โรคหวัด สามารถติดต่อ จากคนสู่คนได้ ผ่านทางละออง น้ำมูก และน้ำลาย ที่มาจาก การไอ หรือจาม ของผู้ป่วย โดยการสูด ละอองเหล่านี้ เข้าไปโดยบังเอิญ จากการสัมผัสมือ กับผู้ป่วย หรือการสัมผัสวัตถุ ที่ผู้ป่วย เคยสัมผัสมาก่อน ซึ่งการติดต่อ จะผ่านทางส่วนตา และจมูก เมื่อใช้นิ้วขยี้ตา หรือแคะจมูก

เชื้อไวรัส มีมากมาย เฉพาะเกี่ยวกับหวัด ก็เกินกว่า 200 ชนิด การเกิดโรคขึ้น ในแต่ละครั้ง จะเกิดจากเชื้อไวรัสหวัด เพียงชนิดเดียว เมื่อเป็นแล้ว คนเราก็จะมี ภูมิต้านทานต่อเชื้อไวรัสหวัดชนิดนั้น ดังนั้น ในการเจ็บป่วยครั้งใหม่ ก็จะเกิดจาก เชื้อหวัดชนิดใหม่ ที่เราไม่เคยเป็น

ไวรัสนี้อาศัย การไอและจาม ของผู้ป่วยเป็น ตัวแพร่กระจายเชื้อ จากผู้ป่วย ไปยังผู้อื่น ก่อนที่มันจะถูก ระบบภูมิคุ้มกัน ของผู้ป่วย สกัดกั้นไว้ได้ การจามจะขับไวรัส ที่เกาะตัวกันอยู่หนาแน่น ในละอองน้ำลาย หรือน้ำมูก มากกว่าการไอ โดยละอองเหล่านี้ ไม่สามารถมองเห็นได้ ยกเว้นในที่ร่มซึ่งแสงแดดส่องถึง และมีอัตราการตกสู่พื้น ที่ช้ามาก กินเวลาเป็นชั่วโมงๆ กว่าที่ละออง จะตกถึงพื้น

เชื้อไวรัส จะเกาะตัวแน่น บนพื้นผิวใดๆ ได้เป็นชั่วโมงๆ วัตถุทึบตัน เช่นราวเหล็ก เชื้อสามารถเกาะติด ได้นานกว่า บนพื้นผิวที่มีรูโปร่ง เช่นแผ่นไม้ หรือกระดาษชำระ

ผู้ป่วยมีโอกาส เป็นพาหะ ได้มากที่สุดในช่วง 3 วันแรก ของการเป็นโรค การติดต่อ ไม่จำเป็น ต้องเกิดจากผู้ป่วย ที่แสดงอาการ ขอเพียงแต่มีไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคหวัด อยู่ในน้ำมูก น้ำลาย ก็พอ


กลไกในการติดต่อ
ทางเข้าหลัก ของไวรัสเหล่านี้ คือผ่านทางตา และจมูก ผ่านทางท่อ Nasocrymal (ผมก็ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหนแน่) แล้วจึงเข้าไป ในเซลล์ ที่หุ้มกล่องเสียง จากนั้นมันจะทำการแพร่พันธุ์ตนเอง แบบทวีคูณ ปากนั้นไม่ใช่ทางเข้าหลัก ของเชื้อ และเชื้อมักจะไม่ติดต่อโดยการจูบ (หลายคนคงจะดีใจ)

(อะไรที่ดูเป็นวิชาการเกินไป ก็ข้ามๆ ไปบ้างก็ได้ครับ)
ไวรัสนั้น จะเข้าสู่เซลล์ โดยการเกาะ โมเลกุลกระตุ้นการเกาะติด ระหว่างเซลล์ หรือ ICAM ประเภทที่ 1 (ICAM - Intercellular adhesion molecule) โดยถ้าเซลล์ใด มี ICAM-1 ก็อาจทำให้ เซลล์ดังกล่าว ติดเชื้อได้ จำนวนของไวรัสนั้น เป็นแค่หนึ่งในปัจจัยหลายๆ ปัจจัย ของสาเหตุ ที่ทำให้ เป็นหวัดได้ (ซึ่งรวมไปถึง การเป็น ไข้ละอองฟาง หรือ ภูมิแพ้ อากาศ (hay fever, allergic rhinitis) และตัวที่ทำให้ เกิดอาการระคายต่างๆ)


อาการของโรค
ระยะฟักตัว ตั้งแต่ผู้ป่วยรับเชื้อเข้าไป จนกระทั่งมีอาการ จะเกิดขึ้นใน 1-3 วัน คนที่ได้รับเชื้อไวรัสไข้หวัดเข้าไป มีอัตราการเป็นโรคสูงถึง 95% แต่มีเพียง 75% เท่านั้น ที่แสดงอาการออกมา

การแสดงอาการ จะเกิดขึ้น 1-2 วัน หลังจากการติดเชื้อ ซึ่งโดยปกติแล้ว อาการของโรคหวัดจะเริ่มต้น ด้วยอาการเจ็บคอ และไม่มีอาการติดขัดใดๆ ในระบบทางเดินหายใจ

หลังจากนั้น อาการจะเกิดขึ้น จากกลไกการสกัดกั้นเชื้อโรค ของร่างกาย ได้แก่ อาการจาม น้ำมูก ไหล และไอ เพื่อขับเชื้อออกไป และเกิดอาการ อักเสบ เพื่อกระตุ้นให้ เซลล์ภูมิคุ้มกัน ทำงาน ทำลายเชื้อไวรัสโรคหวัดนั้น

ผู้ป่วย อาจมีไข้ตัวร้อน เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย ปวดหนักศีรษะเล็กน้อย คัดจมูก น้ำมูกใส จาม คอแห้ง หรือเจ็บคอบ้าง ไอแห้งๆ หรือไอมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะสีขาว บางครั้ง อาจทำให้รู้สึกเจ็บ แถวลิ้นปี่เวลาไอ ในผู้ใหญ่อาจไม่มีไข้ มีเพียงคัดจมูก น้ำมูกใส ในเด็กมักจับไข้ขึ้นมา ทันทีทันใด บางครั้งอาจมีไข้สูง และชักได้

มีอาการท้องเดินได้ หรือถ่ายเป็นมูกร่วมด้วย ถ้าเป็นเกิน 4 วัน หรือถ่ายเป็นมูกข้นเหลือง หรือเขียว หรือไอมีเสลดเป็นสีเหลือง หรือเขียว นั่นเกิดจากการอักเสบซ้ำ ของเชื้อแบคทีเรีย (เราเรียกกันว่า ผีซ้ำด้ามพลอย ความจริงก็คือร่างกาย อ่อนแอ แบคทีเรียก็เลยถือโอกาสซ้ำ) และอาจมีอาการอื่นๆ แทรกซ้อนตามมา ซึ่งจำเป็นต้อง ให้ยาปฏิชีวนะร่วมด้วย จะตรวจพบ ไข้ น้ำมูก เยื่อจมูกบวมและ แดง คอแดงเล็กน้อย ในเด็กอาจพบ ต่อมทอนซิลโต แต่ไม่แดงมาก และไม่มีหนอง

หลังจากผู้ป่วย หายจากโรคหวัดแล้ว ร่างกายของผู้ป่วย จะสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อเชื้อไวรัสหวัดชนิดนั้น โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีเชื้อไวรัส ที่ทำให้เกิดโรคหวัด อยู่มากมาย ภูมิคุ้มกันนี้ จึงให้การป้องกันที่จำกัด เฉพาะไวรัสหวัดที่เพิ่งเป็น ดังนั้นคนที่หาย จากโรคหวัดมา อาจเป็นได้อีก ถ้าติดเชื้อ ไวรัสหวัดชนิดอื่น ซึ่งจะทำให้ กระบวนการ และอาการทั้งหมด เริ่มขึ้นใหม่อีกครั้ง


โรคแทรกซ้อน
อาจเกิดขึ้นได้ ในขณะที่เป็นโรคหวัด เมื่อ แบคทีเรีย ที่ปกติแล้วจะอยู่ใน ระบบทางเดินหายใจ อาศัยโอกาสที่ ระบบภูมิคุ้มกันกำลังอ่อนแอ เข้าไปร่วม ทำการแพร่เชื้อกับไวรัส โรคแทรกซ้อน ที่พบบ่อยเกิดจาก การอักเสบแทรกซ้อน ของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ทำให้น้ำมูก หรือเสลดเป็นสีเหลือง หรือเขียว ถ้าลุกลาม ไปยังบริเวณใกล้เคียง อาจทำให้เป็น ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ

ในเด็กเล็ก อาจทำให้ มีอาการชักจากไข้สูง ท้องเดิน บางคนอาจ มีเสียงแหบ เนื่องจาก กล่องเสียงอักเสบ บางคนอาจ มีอาการวิงเวียน เนื่องจาก อวัยวะการทรงตัวภายในอักเสบ ดังที่เรียกว่า หวัดลงหู ซึ่งจะหายได้เอง ภายใน 3-5 วัน โรคแทรกซ้อน ที่รุนแรง มักจะเกิดในผู้ป่วย ที่ไม่ได้พักผ่อน ตรากตรำงานหนัก ร่างกายอ่อนแอ (เช่น ขาดอาหาร) ในทารก หรือผู้สูงอายุ

โดยปกติแล้ว โรคหูชั้นกลางอักเสบ (Otitis media) ที่มักพบ ในเด็กเล็ก และ โรคโพรงอากาศอักเสบ (Sinusitis หรือ ไซนัสอักเสบ) จะเป็น โรคแทรกซ้อน ที่เกิดขึ้นบ่อย ซึ่งสาเหตุ ของการร่วมแพร่เชื้อ ของแบคทีเรีย อาจเกิดขึ้นได้ จากการถูกกระทบ โดยน้ำมูก หรือในบริเวณนั้น ถูกปกคลุมโดยน้ำมูก ที่ถูกขับออกมา ทางจมูก ซึ่งอธิบายเหตุผลที่ว่า ไม่ควรจะปิดจมูกแน่น เมื่อจะมีอาการจาม หรือจะสั่งน้ำมูก แต่ควรเปิดโพรงจมูกไว้ ทั้งสองข้าง แล้วเมื่อจาม หรือสั่งน้ำมูก แล้ว จึงค่อยเช็ด ซึ่งจะเป็นการทำให้ ความกดดัน จากการจาม หรือสั่งน้ำมูกลดลงไปส่วนหนึ่ง และจะทำให้น้ำมูก ไม่เข้าไปในหู หรือบริเวณโพรงอากาศได้


การป้องกันโรค
วิธีที่ดีที่สุด ที่จะหลีกเลี่ยงเชื้อหวัดได้ คือการหลีกเลี่ยง การใกล้ชิดกับผู้ป่วย และล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ รวมถึงหลีกเลี่ยง การสัมผัสใบหน้า ของตนเอง เพราะมือของเรา อาจจะมีไวรัสหวัด ติดอยู่ สบู่ ต่อต้านแบคทีเรียนั้น ไม่มีผลต่อไวรัสไข้หวัด หากแต่ เป็นการทำความสะอาด มือที่จะล้าง และปัดตัวไวรัส ออกไป ไม่สามารถทำลายไวรัสได้

เมื่อ พ.ศ. 2545 ศูนย์ควบคุม และป้องกันโรค แห่งกระทรวงสาธารณสุข และสวัสดิการสังคม ในสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า เจลทามือ ที่มีส่วนประกอบ เป็นแอลกอฮอล์ จะช่วยลดไวรัส ที่ปนเปื้อนบนมือได้ อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตาม แอลกอฮอล์ ไม่สามารถป้องกัน การติดเชื้อจากไวรัส ที่หลงเหลืออยู่บนมือได้ และไม่ได้ช่วยป้องกัน ไม่ให้เชื้อไวรัสมาปนเปื้อนมือ ได้อีกครั้ง

การสูบบุหรี่ มีผลให้ ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลง จากการสำรวจ พบว่าประชากร ที่ไม่สูบบุหรี่ จะฟื้นตัวจากโรคหวัด ได้เร็วกว่า ประชากรที่สูบบุหรี่ อยู่หลายวันด้วยกัน โดยที่ผู้สูบบุหรี่ ในที่ทำงาน มีอัตราการขาดงาน มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 25%

การฉีดวัคซีนป้องกันโรคหวัด
การฉีดวัคซีน ป้องกันหวัด ไม่เป็นที่ปฏิบัติกัน เนื่องจากจำนวนชนิด ของไวรัสที่ทำให้เกิดโรคหวัดนั้น มีอยู่เป็นจำนวนมาก วัคซีนที่ฉีด ไม่สามารถครอบคลุม ไวรัสโรคหวัดได้ทั้งหมด


การรักษา การรักษา การรักษา
ในขณะนี้ ยังไม่มีหนทางใดๆ หรือ ไม่มียาใดๆ ในการรักษาโรคหวัด หรือในเชิงวิชาการแล้ว ยังไม่มีวิธีการรักษาใดๆ ที่สามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัสไข้หวัดได้

มีเพียง ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเท่านั้น ที่สามารถทำลายเชื้อโรคหวัด ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งกระบวนการสร้างภูมิคุ้มกันนั้น จะใช้เวลาประมาณ 7 วัน ในบุคคลที่มีสุขภาพแข็งแรง ซึ่งในการเป็นโรคหวัดหนึ่งครั้ง จะมีไวรัสอยู่หลายล้านตัว อยู่ในร่างกาย

โดยปกติ เมื่อผ่านการติดเชื้อ มาไม่กี่วัน ร่างกายก็จะเริ่มผลิต Antibody ที่สามารถป้องกัน การติดเชื้อไข้หวัดของเซลล์ออกมา เป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกันกับเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่จะทำลายไวรัสผ่านการโอบเซลล์เอาไว้ หรือวิธีการ Phagocytosis ซึ่งจะทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อไปด้วย เพื่อป้องกันการแพร่ไวรัส ออกไปอีก

เนื่องจาก อาการของโรคหวัด เมื่อเกิดขึ้นจนหาย จะกินเวลาเพียงไม่กี่วัน (ไม่เกินหนึ่งสัปดาห์) ในอนาคต หากจะค้นพบวิธีการรักษา (ที่พิสูจน์ได้) ก็ตามที จะลดระยะเวลา การเป็นโรคหวัดลงได้ ก็เพียงไม่กี่วันเท่านั้น (จากไม่เกิน 7 วัน มันจะเป็นกี่วันล่ะ) การปล่อยให้ร่างกาย ทำการรักษาเอง โดยระบบภูมิคุ้มกัน ก็ไม่ได้ใช้เวลามากนัก การค้นหาวิธีการรักษา อาจจะเป็นการขี่ช้าง(หลายตัว) จับตั๊กแตน(ตัวเดียว)ก็ได้ ????


การปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรคหวัด
• นอนหลับพักผ่อน ให้เพียงพอ ห้ามตรากตรำงานหนัก หรือออกกำลังมากเกินไป
• สวมเสื้อผ้า ให้ร่างกายอบอุ่น หลีกเลี่ยงการถูกฝน หรืออยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น ใช้การเช็ดตัวจะดีกว่า
• หมั่นล้างมือให้สะอาด บ่อยๆ
• อยู่ในห้อง ที่อากาศถ่ายเทได้ดี หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ ที่มีควันบุหรี่ หรือควันไฟมาก เพราะจะทำให้ เยื่อบุระคายเคือง อีกทั้งทำให้การระบายน้ำมูก หรือเสมหะเป็นไปได้ลำบาก
• ดื่มน้ำมากๆ ไม่ควรเป็นน้ำเย็น เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไป เนื่องจากไข้สูง ดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ หรือน้ำผลไม้
• ควรกินอาหารอ่อน ข้าวต้ม น้ำข้าว
• ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัด หรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลาไข้สูง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ต้องคอยเช็ดตัว เพราะถ้าไข้สูง เด็กอาจชักได้
• หลีกเลี่ยงการจาม หรือสั่งน้ำมูกอย่างรุนแรง เพราะจะทำให้น้ำมูก ที่มีเชื้อโรคเข้าไปในไซนัส ได้โดยง่าย และทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อในไซนัสได้
• กลั้วคอ ด้วยน้ำบ่อยๆ รวมทั้ง จิบน้ำบ่อยๆ
• หากเป็นไปได้ (คงจะยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายมาก) ทำอากาศให้ชื้นมากขึ้น ด้วยเครื่องทำละอองความชื้น (Humidifier) เพราะจะทำให้ อากาศไม่แห้ง และทำให้เยื่อบุโพรงจมูกชุ่มชื้น น้ำมูกจะใสขึ้น และถูกขับออกมาได้ง่าย
• ป้องกัน การแพร่ของเชื้อหวัด จากการ ไอ-จาม ด้วยการสวมผ้าปิดจมูก และยังช่วยให้ลำคอไม่เย็น หรือแห้งจนเกินไป ซึ่งเป็นเหตุให้ เชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
• ใช้ช้อนกลาง เมื่อรับประทานอาหาร ร่วมกับผู้อื่น
• ลดโอกาส การแพร่เชื้อหวัด โดยหลีกเลี่ยง การใกล้ชิดกับ ผู้ที่ภูมิต้านทานต่ำ เช่น เด็ก คนแก่ หรือคนที่ป่วย ด้วยโรคเรื้อรัง

ความเห็น ที่น่าสนใจจาก “ศูนย์ธรรมชาติบำบัดบัลวี” โดย คุณหมอบรรจบ ชุณหสวัสดิกุล กล่าวว่า “เป็นกลลวงอนามัย ประการที่ 3 ที่เชื่อว่า โรคหวัดหายได้ ด้วยการกินยา เป็นมรดกทางความคิด ตกทอดมาจาก "ลัทธิบูชายา" นั่นเอง ทั้งๆที่ความรู้ที่เรียนกันมา แต่โรงเรียนแพทย์ก็บอกว่า โรคหวัดมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งไม่มียาตัวใดจะไปฆ่ามันได้

ดังนั้นเมื่อเป็นหวัด ถ้ารู้จักพักผ่อน ร่างกายก็จะจัดการกับเชื้อไวรัสแล้วก็หายเองได้ กระนั้นก็ตามเวลาเป็นหวัด ยาต่างๆก็ถูกระดมใช้ เช่น ยาลดน้ำมูก ยาขับเสมหะ ยาลดบวมของเยื่อจมูก แล้วบางที ก็ใส่ปฏิชีวนะเข้าไปด้วย ถือว่า "กันเหนียว" เผื่อจะมี เชื้อแบคทีเรียแทรก

แท้ที่จริงแล้ว เป็นหวัดเรารักษา แบบไม่ใช้ยาได้ คือ นอนพักผ่อนมากๆ อาจสวมรอยกลไกของธรรมชาติ ซึ่งเวลาเราเป็นไข้เป็นหวัด จะมีอาการเบื่ออาหารอยู่แล้ว ก็ให้ถือโอกาส อดเพื่อสุขภาพ ประทังท้องตัวเอง ด้วยการคั้นน้ำส้ม ดื่มตลอดทั้งวัน

ถ้าจะกินวิตามินบ้าง ก็ใช้ วิตามินซีชีวภาพ (1,000 มก) ครั้งแรกกิน 2 เม็ดทันที จากนั้นกิน 1 เม็ดทุก 1 ชั่วโมง สัก 4-5 ครั้งติดๆกัน จะพบว่า น้ำมูกแห้ง แล้ววันรุ่งขึ้นกินวิตามินซี 1-2 เม็ด 4 เวลา อีกสัก 2 วัน เท่านี้เองหวัดก็หาย

อาจกินฟ้าทะลายโจร 5 เม็ดลูกกลอน 4 เวลา ก่อนอาหาร และก่อนนอน
อาจเพิ่มขมิ้นชัน 5 เม็ดลูกกลอน 4 เวลา ก่อนอาหาร และก่อนนอน เพียงเท่านี้ หวัดก็หายได้


เมื่อเป็นหวัด จำเป็นด้วยหรือ ที่จะต้องกินยา ผมฟันธงไม่ได้ ไม่รู้ครับ ลองวกกลับไปอ่านข้อมูลข้างบนดูอีกครั้ง ก็แล้วกัน


หลายๆคน ก็กินยาเมื่อเป็นหวัด เขากินเพื่ออะไร ???
ถ้าเราเคยไปหาหมอ หรือปรึกษาเภสัชกร เราก็จะได้ยามากินแน่ๆ ผมถามดูแล้ว ได้รับคำตอบว่ากินรักษาอาการ ไม่ได้รักษาโรคหวัด

กินยารักษาอาการ ที่เกิดจากหวัด เขากินอะไรกัน
1. แก้ปวด ลดไข้ เช่น พาราเซตามอล อย่ากินแอสไพริน

2. ลดการคัดจมูก และลดน้ำมูก ใช้ ยาต้านฮิสตามิน (antihistamine) หรือที่เราเรียกกันว่า ยาแก้แพ้     เช่น Chlorpheniramine แต่จะมีผลข้างเคียง ดังต่อไปนี้
2.1. ง่วงนอน เนื่องจาก ยาสามารถผ่านเข้าสู่สมองได้
2.2. ปากแห้ง คอแห้ง น้ำมูกเสมหะเหนียวขึ้น ท้องผูก เหล่านี้เป็นผลจากการที่ยามีคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ที่เรียกทางยาว่า Anti-Cholinergic Effect
2.3. ต้องกินบ่อย ประมาณ 3-4 ครั้งต่อวัน จึงจะควบคุมอาการได้ตลอดทั้งวัน

3. ถ้าไอแห้ง หรือไอคันคอ ใช้จิบ ยาแก้ไอน้ำดำ (Brown mixture) ยาแก้ไอน้ำเชื่อม (Cough syrup) หรือ อมยาอมมะแว้ง แบบไทยๆ ก็ดี

4. แต่ถ้าไอมีเสมหะ หรือเสลดเหนียว ให้ดื่ม หรือจิบน้ำอุ่นบ่อยๆ แทน หากจำเป็น ก็ให้กินยาขับเสมหะ  มิสต์สกิลแอมมอน (Mist. Scill Ammon)

5. แต่ถ้า น้ำมูกข้นเหลือง หรือเขียว หรือ ไอมีเสลดเหลือง หรือเขียว เกิน 24 ชั่วโมง ควรไปหาหมอดี กว่า เพราะอาจมีการอักเสบแทรกซ้อน ของเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) ไม่ใช่เป็นหวัดเท่านั้น เอาละ หากจะหากินยาเอง ก็น่าจะใช้
5.1. อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) วันละ 3 เวลา ทุก 8 ชั่วโมง (ก่อนหรือหลังอาหารก็ไม่เป็นไร) นาน 5 ถึง 7 วัน อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ถ้าเคยแพ้ยาเพนิซิลลิน
5.2. หรือจะใช้ เพนิซิลลินวี หรือ เพนวี (Penicillin V หรือ Pen. V) วันละ 4 เวลา ก่อนอาหาร 1 ชั่วโมง และก่อนนอน นาน 5 ถึง 7 วัน อาจจะเกิดอาการแพ้ได้ ถ้าเคยแพ้ยาเพนิซิลลิน


อยู่ดีๆ แค่เป็นหวัด แล้วไปกินยาปฏิชีวนะ เพื่อรักษาโรคหวัด ไม่ถูกต้องแน่นอน
ยาปฏิชีวนะ รักษาโรคหวัดไม่ได้ ทำลายไวรัสไม่ได้ ฉะนั้นมันจึงไม่มีผลใดๆ กับเชื้อหวัด การใช้ยาปฏิชีวนะก่อให้เกิดผลเสียคือ ทำให้แบคทีเรียในร่างกายพัฒนาไปเป็นแบคทีเรียที่ดื้อยา หรือแม้กระทั่ง ทำให้การติดเชื้อขยายออกไป และทำลายสิ่งมีชีวิต ที่มีอยู่ปกติในร่างกาย อีกด้วย


จากหมอชาวบ้าน
“ในร่างกายคนเรามีจุลชีพ (สิ่งมีชีวิตตัวจิ๋ว รวมทั้งแบคทีเรีย ที่มองไม่เห็น ด้วยตาเปล่า) อยู่เป็นเพื่อนกับเรา เชื้อหลายอย่างอยู่ที่คอ ที่จมูกของเรา เป็นนักเลงเจ้าถิ่นก็มี ถ้ามีเชื้อโรคแปลกปลอม จากที่อื่นมา พวกนักเลงเจ้าถิ่น ก็จะเข้าจัดการให้ โดยเราไม่ต้องเป็นโรคติดเชื้อ

แต่ถ้าเราไปใช้ ยาปฏิชีวนะ โดยไม่จำเป็น ก็จะไปฆ่านักเลงเจ้าถิ่นเสีย เมื่อเชื้อโรคต่างถิ่นเข้ามาสู่ร่างกายของเรา คราวนี้ ไม่มีนักเลงเจ้าถิ่นคุ้มกัน เลยเกิดเรื่อง ลุกลามใหญ่โต”

การรักษา ที่ไม่จำเป็น เราต้อง เสียเงินเสียทองไป โดยเปล่าประโยชน์ และเกิดผลร้าย โดยที่เรานึกไม่ถึง จริงๆนะครับ

ผมคงต้องขอจบ เรื่องที่อยากจะบอก เกี่ยวกับ “โรคหวัด” สาเหตุ วิธีรับมือโรคหวัด และข้อควรระวัง แค่นี้นะครับ

ว พชร

(ข้อมูล รายละเอียด และฝอยต่างๆ ที่ผมเขียนนี้ ผมอ่าน และ รวบรวมมาจาก http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94, http://www.geocities.com/hotSprings/bath/8143/drug_antihistamine.html, http://www.balavi.com/content_th/nanasara/Con00284.asp,
คู่มือหมอชาวบ้าน และ อื่นๆ ที่ผมจำไม่ได้ว่ามาจากไหน ขอขอบคุณอย่างสูง สำหรับข้อมูลและรายละเอียดทั้งหมดครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น